Intelligent Robot Senior

Intelligent Robot รุ่น Senior

เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ผสมทั้งแบบกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติเพื่อทำภาจกิจในการเคลื่อนย้ายวัตถุไปยังจุดต่างๆ ของสนาม
หมวดที่ 1 รุ่น/ผู้แข่งขัน
ข้อที่ 1
1.1 ทีมหุ่นยนต์มีสมาชิกตั้งแต่ 1 ถึง 2 คน
1.2 ผู้แข่งขันต้องมีอายุ 15 ถึง 19 ปี นับถึงปี พ.ศ. 2562 (ต้องเกิดระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง 2547 ไม่จำกัดระดับการศึกษา และจะมาจากโรงเรียนเดียวกันหรือไม่ก็ได้
1.3 ทุกทีมจะมีครู/อาจารย์ที่ปรึกษา/ผู้ควบคุมทีมหรือไม่ก็ได้ ถ้ามี จะมีได้ 1 คน (สามารถดูแลพร้อมกันหลายทีมได้)
1.4 ผู้แข่งขันแต่ละคนลงแข่งขันได้เพียง 1 ทีม

หมวดที่ 2 รูปแบบสนามแข่งขัน
ข้อที่ 2 ขนาด
2.1 มีความยาว 3.3 เมตร กว้าง 1.8 เมตร โดยประมาณ

ข้อที่ 3 ลักษณะโดยรวม
3.1 สนามแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

3.1.1 โซนบังคับมือ

3.1.1.1 มีกระป๋อง 4 สี เป็นสีแดง, เหลือง, เขียว และน้ำเงิน สีละ 4 ใบ
3.1.1.2 กระป๋องเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ถึง 7 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร น้ำหนักไม่เกิน 100 กรัม

3.1.2 โซนอัตโนมัติ

3.1.2.1 ประกอบด้วยจุดเริ่มต้น, เส้นทางสีดำ, ช่องตั้งต้น 12 ช่อง, ช่องประตู 4 ช่อง และช่องเป้าหมายสีดำ 4 ช่อง
3.1.2.2 กรอบจุดเริ่มต้นมีขนาดไม่เกิน 25 x 25 เซนติเมตร
3.1.2.3 ช่องตั้งต้น, ช่องประตู 4 ช่อง และช่องเป้าหมาย มีขนาดไม่เกิน 25 x 25 เซนติเมตร
3.1.2.4 เส้นเป็นสีดำ กว้าง 10 ถึง 20 มิลลิเมตร
3.1.2.5 ที่ช่องประตูจะมีการติดตั้งแผ่นสีเป้าหมาย ซึ่งถูกสุ่มโดยกรรมการ สีเป้าหมายมี 4 สีคือ สีแดง, เหลือง, เขียว และน้ำเงิน

3.2 เป็นพื้นเรียบ แต่อาจมีรอยต่อ ที่ทำให้สนามเกิดระดับได้ ไม่มีสิ่งกีดขวางใดบนเส้นทางเคลื่อนที่
3.3 รูปแบบเส้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ข้อที่ 4 สภาวะของแสงและแม่เหล็ก
4.1 ทีมต้องเตรียมหุ่นยนต์ให้พร้อมทำงานกับสภาพของแสงภายในสนามแข่งขัน
4.2 สภาพแสงอาจต่างกันไปในการแข่งขัน

หมวดที่ 3 ข้อกำหนดของหุ่นยนต์
ข้อที่ 5 คุณสมบัติทางเทคนิค
5.1 ไม่จำกัดความกว้างยาวและน้ำหนักของหุ่นยนต์ แต่ต้องไม่ทำให้สนามได้รับความเสียหาย ใช้หุ่นยนต์ได้เพียง 1 ตัวในการแข่งขัน
5.2 ไม่จำกัดความสูงของหุ่นยนต์
5.3 หุ่นยนต์สามารถขยายหรือลดขนาดในระหว่างการแข่งขันได้
5.4 ใช้บอร์ดควบคุมที่ผลิตและจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อ INEX โดยห้ามใช้แผงวงจรขับมอเตอร์ภายนอกเพิ่มเติมสำหรับขับเคลื่อนหุ่นยนต์ หากใช้ micro:bit ต้องใช้ร่วมกับบอ์ด iBIT ได้ทุกรุ่นเท่านั้น
5.5 ใช้ตัวตรวจจับได้ไม่จำกัดชนิดและจำนวน
5.6 ใช้มอเตอร์ในการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ได้สูงสุด 4 ตัว
5.7 ห้ามใช้มอเตอร์แบบ brushless ในทุกแบบ ทุกกรณี
5.8 หุ่นยนต์ที่เข้าแข่งขันต้องมีการเขียนโปรแกรมให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและติดต่อกับรีโมตคอนโทรลในแบบไร้สายได้ ผู้แข่งขันต้องเตรียมการรับมือในกรณีอาจเกิดการรบกวนกันของคลื่นวิทยุหรือแสงอินฟราเรดในขณะทำการฝึกซ้อมและแข่งขัน
5.9 ไม่จำกัดรูปแบบและชนิดของรีโมตคอนโทรลไร้สายที่ใช้ในการบังคับ
5.10 ไม่จำกัดที่มาของชิ้นส่วนทางกลและอุปกรณ์ประกอบ จะทำเอง, ขึ้นรูปจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ, ดัดแปลงจากของเล่น ทำได้ทั้งสิ้น
5.11 การยึดสกรูและนอตหรืออุปกรณ์ยึดตรึงใดๆ ในตัวหุ่นยนต์จะต้องกระทำอย่างแน่นหนา หากในระหว่างการแข่งขันมีชิ้นส่วนหลุด แตก หัก ลงในสนาม กรรมการจะไม่นำออก และอนุญาตให้แข่งขันต่อไปได้ กรรมการไม่อาจรับผิดชอบต่อผลที่กระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างที่นำชิ้นส่วนที่หลุดออกนอกสนาม
5.12 ไม่จำกัดคุณสมบัติของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมหุ่นยนต์

ข้อที่ 6 สิ่งที่ต้องไม่กระทำในการสร้างหุ่นยนต์
ต้องไม่ใช้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใดๆ เมื่อติดตั้งแล้วสามารถสร้างความเสียหายแก่สนามแข่งขันในทุกกรณี

หมวดที่ 4 ภารกิจการแข่งขัน
ในการแข่งขันนั้นจะเริ่มต้นเมื่อผู้แข่งขันเปิดสวิตช์และทำการบังคับให้หุ่นยนต์ทำการเคลื่อนย้ายกระป๋องจากคลังกระป๋องนอกสนามมาวางในช่องตั้งต้นจนพอใจ จากนั้นบังคับหุ่นยนต์ให้มายังจุดเริ่มต้น (START) แล้วเปลี่ยนโหมดการทำงานของหุ่นยนต์เป็นแบบอัตโนมัติ หลังจากนั้นหุ่นยนต์จะต้องทำงานแบบอัตโนมัติตามโปรแกรมที่ถูกตั้งไว้และจะต้องเป็นการทำงานอิสระปราศจากการควบคุมจากอุปกรณ์ใดๆ เพื่อเคลื่อนย้ายกระป๋องจากช่องตั้งต้นไปยังช่องเป้าหมาย โดยให้สีของกระป๋องตรงกับช่องประตูที่อยู่หน้าช่องเป้าหมาย ทีมที่ทำคะแนนรวมได้สูงสุดจะเป็นผู้ชนะ

ข้อที่ 7 รูปแบบของภารกิจ
ในการแข่งขันนี้มี 2 ภารกิจ
7.1 ภารกิจที่ 1 เคลื่อนย้ายกระป๋องจากคลังกระป๋องนอกสนามมาวางในช่องตั้งต้น

7.1.1 ในภารกิจนี้หุ่นยนต์ต้องทำงานในโหมดบังคับด้วยรีโมตคอนโทรล
7.1.2 หุ่นยนต์ต้องเคลื่อนย้ายกระป๋องจากคลังกระป๋องนอกสนามมาวางในช่องตั้งต้นช่องใดก็ได้ที่มีอยู่ 12 ช่อง
7.1.3 ผู้แข่งขันสามารถบังคับให้หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายกระป๋องมาวางในช่องตั้งต้นจำนวนกี่ใบก็ได้
7.1.4 หุ่นยนต์สามารถวางกระป๋องกี่ใบก็ได้ในช่องตั้งต้นแต่ละช่อง
7.1.5 ไม่จำเป็นต้องวางกระป๋องในช่องตั้งต้นทุกช่องก็ได้
7.1.6 กระป๋องที่ได้รับการคิดคะแนนจะต้องตั้งอย่างมั่นคง และมีส่วนใดส่วนหนึ่งสัมผัสกับขอบเขตของช่องตั้งต้น หากกระป๋องล้มจะถูกนำออกและไม่นำมาคิดคะแนน
7.1.7 กระป๋องที่หลุดจากการเคลื่อนย้ายของหุ่นยนต์จะถูกนำออกและไม่นำมาคิดคะแนน
7.1.8 เมื่อวางกระป๋องจนพอใจ ผู้แข่งขันต้องบังคับให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่มาอยู่กรอบของจุดเริ่มต้น แล้วเปลี่ยนโหมดการทำงานเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ
7.1.9 การเปลี่ยนโหมดทำได้โดยการกดปุ่มที่รีโมตคอนโทรลหรือที่ตัวหุ่นยนต์ก็ได้ หากกระทำที่ตัวหุ่นยนต์ผู้แข่งขันสามารถทำด้วยการกดปุ่มหรือสวิตช์ใดๆ หรือใช้การเปลี่ยนโหมดเแบบไม่สัมผัสได้

7.2 ภารกิจที่ 2 เคลื่อนย้ายกระป๋องจากช่องตั้งต้นมาวางในช่องเป้าหมาย

7.2.1 ในภารกิจนี้หุ่นยนต์ต้องทำงานในโหมดอัตโนมัติเท่านั้น
7.2.2 กรรมการจะสุ่มแผ่นสีให้กับช่องประตูทั้ง 4 ช่อง ตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขัน
7.2.3 หุ่นยนต์ต้องเคลื่อนย้ายกระป๋องจากช่องตั้งต้นมาวางในช่องเป้าหมายที่กำหนดโดยช่องประตูซึ่งอยู่หน้าช่องเป้าหมาย หากมีสีตรงกัน จะได้คะแนนเพิ่ม แต่ถ้าวางไม่ตรงสีเป้าหมาย ก็จะได้คะแนนปกติ
7.2.4 หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนย้ายและวางกระป๋องลงในช่องเป้าหมายแต่ละช่องจำนวนกี่ใบก็ได้
7.2.5 ไม่จำเป็นต้องวางกระป๋องในช่องเป้าหมายทุกช่องก็ได้ แต่จะไม่ได้คะแนนเต็ม
7.2.6 กระป๋องที่ได้รับการคิดคะแนนจะต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งสัมผัสกับขอบเขตของช่องเป้าหมาย
7.2.7 กระป๋องที่หลุดจากการเคลื่อนย้ายของหุ่นยนต์จะถูกนำออกและไม่นำมาคิดคะแนนในส่วนของภารกิจที่ 2

ข้อที่ 8 การเริ่มต้น ใหม่
8.1 ผู้แข่งขันในแต่ละทีมสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ตลอดเวลา โดยยกมือและแจ้งต่อกรรมการ

8.1.1 กรณีภารกิจบังคับมือ ยกหุ่นยนต์ออกจากสนาม กระป๋องทั้งหมดจะถูกนำกลับไปวางในคลังกระป๋อง และล้างคะแนนที่ทำได้ทั้งหมด
8.1.2 กรณีภารกิจอัตโนมัติ ยกหุ่นยนต์กลับมายังจุดเริ่มต้น กระป๋องที่ทำคะแนนได้แล้วยังอยู่ที่เดิม ไม่มีการล้างคะแนนที่ทำได้ในภารกิจอัตโนมัติ ส่วนกระป๋องที่หลุดจากการครอบครองของหุ่นยนต์จะถูกนำออก

8.2 ผู้แข่งขันสามารถขอเริ่มต้นใหม่ได้ 2 ครั้งต่อภารกิจ
8.3 ห้ามใช้มือจับหุ่นยนต์ในระหว่างการแข่งขันทั้งสองภารกิจ มิฉะนั้นจะถูกกรรมการสั่งให้เริ่มต้นใหม่
8.4 หากหุ่นยนต์หยุดการเคลื่อนที่หรือไม่มีความคืบหน้าในการทำงาน จะถูกบังคับให้เริ่มต้นใหม่
8.5 ผู้แข่งขันสามารถซ่อมแซมและปรับปรุงหุ่นยนต์ภายในสนามแข่งขันได้เมื่อเกิดการขอเริ่มต้นใหม่ แต่ห้ามดาวน์โหลดหรืออัปโหลดโปรแกรมใหม่ ห้ามเปลี่ยนบอร์ดควบคุมอย่างเด็ดขาด หากละเมิด กรรมการจะสั่งให้ยุติการแข่งขันทันที

ข้อที่ 9 เวลาในการแข่งขัน
9.1 เวลาในการแข่งขันรวม 3 นาที
9.2 ทุกทีมมีเวลาสำหรับเตรียมตัวก่อนแข่งขัน 1 นาที

ข้อที่ 10 คะแนนในการแข่งขัน
10.1 คะแนนในภารกิจบังคับมือ มีดังนี้

10.1.1 เมื่อหุ่นยนต์สามารถนำกระป๋องมาวางในช่องตั้งต้น โดยไม่ล้มหรือตะแคง จะได้ใบละ 1 คะแนน
10.1.2 หุ่นยนต์สามารถนำกระป๋องมาวางในช่องตั้งต้นช่องละกี่ใบก็ได้ โดยได้รับการคิดคะแนนเท่ากัน
10.1.3 คะแนนสูงสุดของภารกิจนี้เท่ากับ 16 คะแนน
10.1.4 เมื่อหุ่นยนต์เคลื่อนที่มายังจุดเริ่มต้น และเริ่มทำงานในโหมดอัตโนมัติ คะแนนของภารกิจบังคับมือจะได้รับการบันทึกทันที และไม่มีการล้างคะแนนในส่วนนี้ ไม่ว่าผลการทำภารกิจในโหมดอัตโนมัติจะเป็นอย่างไร
10.1.5 คะแนนในภารกิจนี้จะถูกล้างเป็น 0 เมื่อมีการเริ่มต้นใหม่หรือขอรีไทร์

10.2 คะแนนในภารกิจอัตโนมัติ มีดังนี้

10.2.1 เมื่อหุ่นยนต์สามารถนำกระป๋องมาวางในช่องเป้าหมายได้ จะได้ใบละ 5 คะแนน
10.2.2. หากสีของกระป๋องที่วางได้จากข้อ 10.2.1 ตรงกับช่องประตู จะได้คะแนนเพิ่ม 2 เท่าต่อใบ
10.2.3 หุ่นยนต์สามารถนำกระป๋องมาวางในช่องเป้าหมายช่องละกี่ใบก็ได้
10.2.4 คะแนนสูงสุดของภารกิจนี้เท่ากับ 160 คะแนน มาจากวางกระป๋องทั้ง 16 ใบถูกต้องทั้งหมด นั่นคือ

(ก) วางกระป๋องสีแดง 4 ใบในช่องเป้าหมายที่กำหนดเป็นช่องสีแดงจากช่องประตู ได้ 20 x 2 = 40 คะแนน
(ข) วางกระป๋องสีเหลือง 4 ใบในช่องเป้าหมายที่กำหนดเป็นช่องสีเหลืองจากช่องประตู ได้ 20 x 2 = 40 คะแนน
(ค) วางกระป๋องสีเขียว 4 ใบในช่องเป้าหมายที่กำหนดเป็นช่องสีเขียวจากช่องประตู ได้ 20 x 2 = 40 คะแนน
(ง) วางกระป๋องสีน้ำเงิน 4 ใบในช่องเป้าหมายที่กำหนดเป็นช่องสีน้ำเงินจากช่องประตู ได้ 20 x 2 = 40 คะแนน
คะแนนรวมจึงเป็น 40 + 40 + 40 + 40 = 160 คะแนน

10.2.5 หากเกิดการขอเริ่มต้นใหม่ กระป๋องที่ถูกวางในช่องเป้าหมายจะอยู่ในช่องเป้าหมายเหมือนเดิม
10.2.6 การคิดคะแนนในภารกิจอัตโนมัติจะเกิดขึ้นเมื่อ

(ก) หมดเวลา
(ข) ผู้แข่งขันขอยุติการแข่งขัน
(ค) เกิดการขอเริ่มต้นใหม่เป็นครั้งที่สาม
(ง) กรรมการสั่งให้ยุติการแข่งขัน

10.3 คะแนนที่ผู้แข่งขันได้รับมาจากการรวมกันของทั้งสองภารกิจ
10.4 ผู้แข่งขันมีโอกาสแข่งขันอย่างน้อย 2 ครั้ง และเลือกผลการแข่งขันที่ดีที่สุดมาจัดอันดับ

ข้อที่ 11 การปล่อยตัวหุ่นยนต์
11.1 ในการปล่อยตัวหุ่นยนต์ของภารกิจบังคับมือ จะต้องกระทำด้วยควบคุมจากรีโมตคอนโทรล
11.2 ในการปล่อยตัวหุ่นยนต์ของภารกิจอัตโนมัติ ทำได้ทั้งจากกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

11.2.1 รีโมตคอนโทรล
11.2.2 กดสวิตช์หรือปุ่มใดๆ ที่หุ่นยนต์
11.2.3 ใช้การตรวจจับแบบไม่สัมผัสกับตัวหุ่นยนต์

11.3 การปล่อยตัวหุ่นยนต์ของภารกิจอัตโนมัติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหุ่นยนต์อยู่ในช่องจุดเริ่มต้นทั้งตัว

หมวดที่ 5 การเริ่มต้น, หยุด, แข่งขันต่อ และจบการแข่งขัน
ข้อที่ 12 การเตรียมการก่อนแข่งขัน:
12.1 ผู้แข่งขันจะได้รับบัตรผ่านเข้าสนาม เพื่อฝึกซ้อม ปรับแต่งค่า ทดสอบ และปรับแต่งหุ่นยนต์ตลอดการแข่งขัน
12.2 ผู้แข่งขันต้องนำหุ่นยนต์มารายงานตัวและส่งมอบให้กรรมการก่อนการแข่งขัน
12.3 ผู้จัดงานมีความประสงค์และจะพยายามให้เวลาแต่ละทีมเพื่อเตรียมตัวก่อนการแข่งขันเป็นเวลา 1 นาที

ข้อที่ 13 การเริ่มแข่งขัน :
13.1 ในการเริ่มต้น ให้หุ่นยนต์ประจำอยู่บริเวณใดของสนามก็ได้
13.2 กรรมการจะทำการสุ่มสีของช่องประตู
13.3 ทีมที่ไม่สามารถเริ่มแข่งขันตรงตามเวลาที่กำหนดจะถูกปรับให้ได้ 0 คะแนนในรอบการแข่งขันนั้น

ข้อที่ 14 การจบการแข่งขัน
14.1 หมดเวลา
14.2 ผู้แข่งขันขอยุติการแข่งขัน
14.3 เกิดการขอเริ่มต้นใหม่เป็นครั้งที่สาม
14.4 กรรมการสั่งให้ยุติการแข่งขัน
14.5 เมื่อจบการแข่งขัน กรรมการรวมคะแนนที่ผู้แข่งขันทำได้จากทั้งสองภารกิจ ผู้แข่งขันลงลายมือชื่อรับผลการแข่งขัน

หมวดที่ 6 รูปแบบการแข่งขัน
ข้อที่ 15 การแข่งขันรอบแรก
15.1 เป็นการแข่งขันเพื่อสะสมคะแนน
15.2 ทุกทีมมีโอกาสลงแข่งขันอย่างน้อย 2 ครั้ง เลือกผลคะแนนที่ทำได้ดีที่สุดของแต่ละทีมมาจัดอันดับ
15.3 การสุ่มสีของช่องประตูจะกระทำครั้งเดียวในแต่ละรอบของการแข่งขัน
15.4 ทีมที่ได้คะแนนในอันดับสูงสุด 3 ทีม จะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ
15.5 ทีมที่ได้คะแนนอันดับ 4 ถึง 6 (รวมไม่เกิน 3 ทีม) จะได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3
15.6 ทีมที่ได้คะแนนอันดับ 7 ถึง 10 (รวมไม่เกิน 4 ทีม) จะได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4
15.7 กรณีมีทีมที่ได้คะแนนการแข่งขันสูงสุดมากกว่าที่กำหนด จะพิจารณาจากทีมที่ทำคะแนนได้จากทั้งสองภารกิจ จะได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่า
15.8 จากข้อ 15.7 หากเท่ากัน ทีมที่ทำคะแนนจากภารกิจอัตโนมัติได้มากกว่า จะได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่า
15.9 จากข้อ 15.8 หากเท่ากัน จะพิจารณาจากจำนวนของกระป๋องที่ถูกวางอย่างถูกต้องตามข้อ 10.2.3 ทีมที่ทำได้มากกว่าจะได้อันดับที่ดีกว่า
15.10 จากข้อ 15.9 หากเท่ากัน จะพิจารณาจากจำนวนรวมของกระป๋องที่ถูกวางในช่องเป้าหมาย (ไม่ว่าจะถูกสีหรือไม่ก็ตาม) ทีมที่ทำได้มากกว่าจะได้อันดับที่ดีกว่า
15.11 จากข้อ 15.10 หากเท่ากัน จะมีการแข่งขันพิเศษ เพื่อเลือกหรือจัดอันดับทีมที่เข้ารอบต่อไป

ข้อที่ 16 การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ
16.1 การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะแข่งขันในลักษณะเดียวกับรอบแรก โดยทุกทีมมีโอกาสแข่งขัน 1 ครั้ง
16.2 ทีมที่ทำคะแนนได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะเลิศ
16.3 ทีมที่ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 2 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
16.4 ทีมที่ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
16.5 ใช้เวลาแข่งขันทีมละ 3 นาที มีเวลาเตรียมการ 1 นาที
16.6 หากคะแนนเท่ากันเมื่อหมดเวลา ทีมที่ทำคะแนนได้จากทั้งสองภารกิจ จะได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่า
16.7 จากข้อ 16.6 ทีมที่ทำคะแนนจากภารกิจอัตโนมัติได้มากกว่า จะได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่า
16.8 จากข้อ 16.7 หากเท่ากัน จะพิจารณาจากจำนวนของกระป๋องที่ถูกวางอย่างถูกต้องตามข้อ 10.2.3 ทีมที่ทำได้มากกว่าจะได้อันดับที่ดีกว่า
16.9 จากข้อ 16.8 หากเท่ากัน จะพิจารณาจากจำนวนรวมของกระป๋องที่ถูกวางในช่องเป้าหมาย (ไม่ว่าจะถูกสีหรือไม่ก็ตาม) ทีมที่ทำได้มากกว่าจะได้อันดับที่ดีกว่า
16.10 จากข้อ 16.9 หากเท่ากัน จะมีการแข่งขันใหม่ โดยลดเวลาแข่งขันเหลือ 2 นาที แล้วใช้เกณฑ์จัดอันดับตามข้อ 16.6 ถึง 16.9

หมวดที่ 7 การผิดกติกา
ข้อที่ 17
ถ้าผู้แข่งขันทำการละเมิดข้อกำหนดในข้อที่ 6, 18 และ 19 หรือข้อหนึ่งข้อใด จะถือว่า ทำผิดกติกา

ข้อที่ 18
ผู้แข่งขันที่กระทำการดูถูก เหยียดหยามฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะโดยวาจาหรือการกระทำ หรือให้หุ่นยนต์ส่งเสียง, แสดงข้อความ หรือแสดงอากัปกริยาอันเป็นการดูถูก เหยียดหยามฝ่ายตรงข้าม จะถูกปรับแพ้

ข้อที่ 19
หากผู้แข่งขันกระทำการดังต่อไปนี้ จะถือว่าผิดกติกาเช่นกัน

19.1 กระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการทำงานของหุ่นยนต์ของคู่แข่งขัน
19.2 กระทำการใดๆ ที่ทำให้การแข่งขันหยุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันควร
19.3 กระทำการใดก็ตามที่ไม่สุภาพและทำให้เกิดการเสื่อมเสียต่อการแข่งขัน

หมวดที่ 8 บทลงโทษ
ข้อที่ 20
20.1 ผู้ที่กระทำผิดกติกาในข้อที่ 17 จะถูกให้ยุติการแข่งขันในทันที
20.2 หากทำผิดซ้ำ จะถูกให้ออกจากการแข่งขัน

ข้อที่ 21
หากเป็นผู้ควบคุมทีมกระทำผิด ทีมที่อยู่ภายใต้การดูแลจะถูกปรับให้ออกจากการแข่งขัน

ข้อที่ 22 ข้อขัดแย้งในการตัดสิน
ระหว่างการแข่งขันให้ถือว่าคำตัดสินของกรรมการเป็นที่สิ้นสุด

หมวดที่ 9 ความเสียหายและอุบัติเหตุในการแข่งขัน
ข้อที่ 23 การขอหยุดการแข่งขัน
ผู้แข่งขันสามารถขอหยุดการแข่งขันได้ หากหุ่นยนต์ของตนเองประสบอุบัติเหตุจนแข่งขันต่อไม่ได้

ข้อที่ 24 เวลาสำหรับการซ่อมหุ่นยนต์
24.1 ผู้แข่งขันสามารถซ่อมแซมหุ่นยนต์ได้ตลอดเวลาการแข่งขัน โดยการจับเวลายังคงดำเนินต่อไป
24.2 ต้องซ่อมที่บริเวณสนามแข่งขันเท่านั้น และต้องไม่กีดขวางการแข่งขันของคู่แข่งขัน

หมวดที่ 10 การระบุหรือแสดงตัวของหุ่นยนต์
ข้อที่ 25
การระบุชื่อหรือหมายเลขของหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องกระทำอย่างชัดเจน ง่ายต่อการเห็นตลอดเวลาแข่งขัน


รางวัลของการแข่งขัน
1. ของที่ระลึก
ทีมที่สมัครเข้าแข่งขันทุกทีม จะได้รับของที่ระลึกจากผู้จัดการแข่งขัน
2. รางวัลและสิทธิ์ในการแข่งขันหุ่นยนต์ World Robot Games 2019 (WRG 2019)

1. ผู้ชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ, สิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนมูลค่า ทีมละ 21,000 บาท
2. รองชนะเลิศอันดับ 1 (1 ทีม) ได้รับเงินรางวัล 3,500 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
3. รองชนะเลิศอันดับ 2 (1 ทีม) ได้รับเงินรางวัล 2,500 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
4. รองชนะเลิศอันดับ 3 (3 ทีม) ได้รับเหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตร และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
5. รองชนะเลิศอันดับ 4 (4 ทีม) ได้รับเหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตร

ครูที่ปรึกษา/ผู้ควบคุมทีมของทีมที่ได้รางวัลจะได้รับเหรียญและเกียรติบัตรเช่นเดียวกับผู้แข่งขัน (ทีมละ 1 คน)

สิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ WRG 2019 เป็นการให้สิทธิ์แก่สมาชิกทุกคนในทีม รวมถึงครูที่ปรึกษา ซึ่งสามารถลงทะเบียนเป็นผู้แข่งขันในรุ่น Open ได้ โดยทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ถึง 3 จะได้รับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนมูลค่าทีมละ 15,020 บาท คงเหลือค่าลงทะเบียนเพียงคนละ 2,990 บาท การรับหรือสละสิทธิ์เพื่อร่วมแข่งขัน WRG 2019 เป็นการพิจารณาโดยสมัครใจของผู้แข่งขันและผู้ฝึกสอน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ World Robot Games 2019 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ติดต่อได้ที่ บริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด (INEX) โทรศัพท์ 0-2747-7001-4 โทรสาร 0-2747-7005 อีเมล์ info@inex.co.th
หรือทางเว็บไซต์ http://wrgthailand.com
หรือติดตามผ่านทาง facebook ของ INEX ที่
https://www.facebook.com/innovativeexperiment