Programable Line tracing

กติกาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ตามเส้นแบบโปรแกรมได้

หมวดที่ 1 รุ่น/ผู้แข่งขัน
ข้อที่ 1
1.1 ทีมหุ่นยนต์มีสมาชิก 1 คน
1.2 การแข่งขันมี 3 รุ่นคือ

1.2.1 รุ่น Master สำหรับผู้แข่งขันอายุ 7 ถึง 10 ปี ต้องเกิดในปี พ.ศ. 2552 ถึง 2555
1.2.2 รุ่น Junior สำหรับผู้แข่งขันอายุ 11 ถึง 14 ปี ต้องเกิดในปี พ.ศ. 2548 ถึง 2551
1.2.3 รุ่น Senior สำหรับผู้แข่งขันอายุ 15 ปี ถึง 19 ปี ต้องเกิดในปี พ.ศ. 2543 ถึง 2547

1.3 ทีมอาจมีครู/อาจารย์ที่ปรึกษาได้ ไม่เกิน 1 คน (สามารถเป็นที่ปรึกษาพร้อมกันหลายทีมได้)

หมวดที่ 2 รูปแบบสนามแข่งขัน
ข้อที่ 2 เกี่ยวกับสนามแข่งขัน
เป็นสนามพื้นเรียบที่มีเส้นดำบนพื้นสีขาวหรือสีอ่อนที่สามารถแยกได้อย่างชัดเจน อาจมีระดับลาดเอียงได้ รูปแบบเส้นทางเป็นเส้นต่อเนื่อง ขนาดเส้นอยู่ระหว่าง 1 ถึง 2.5 เซนติเมตร อาจมีเส้นตัดและเส้นขาด มีทางลาดขึ้นและลง อย่างน้อย 1 จุดสำหรับรุ่น Masพ และ Junior และอย่างน้อย 2 จุดสำหรับรุ่น Senior มีจุดพักเป็นช่วงๆ เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นแข่งขันต่อในกรณีที่หุ่นยนต์เคลื่อนที่ออกนอกเส้น โดยเส้นทางแข่งขันจะประกาศให้ทราบในวันแข่งขันวันแรก

หมวดที่ 3 ข้อกำหนดของหุ่นยนต์
ข้อที่ 3 คุณสมบัติทางเทคนิค

3.1 ขนาดของหุ่นยนต์ต้องไม่เกิน 15 x 15 เซนติเมตร สูงไม่จำกัด และต้องใส่ลงในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดภายใน 15 x 15 เซนติเมตรที่ทางกรรมการเตรียมไว้ได้ก่อนการแข่งขัน
3.2 เกี่ยวกับบอร์ดควบคุมและอุปกรณ์

3.2.1 รุ่น Master ใช้ micro:bit ร่วมกับบอร์ด iBIT หรือ iBIT+ หรือ iBIT V1.8 เท่านั้นสำหรับบอร์ด ควบคุม โดยไม่จำกัดลักษณะโครงสร้าง, แรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่, ไม่จำกัดจำนวนตัวตรวจจับ, จำกัดจำนวนมอเตอร์ขับเคลื่อนไม่เกิน 2 ตัว และห้ามใช้บอร์ดขับมอเตอร์เพิ่มเติมภายนอก
3.2.2 รุ่น Junior ใช้บอร์ดควบคุมรุ่นใดก็ได้ของ inex (รวม micro:bit ที่ต้องใช้งานร่วมกับบอร์ด iBITหรือ iBIT+ หรือ iBIT V1.8) โดยไม่จำกัดลักษณะโครงสร้าง, แรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่, ไม่จำกัด จำนวนตัวตรวจจับ, จำกัดจำนวนมอเตอร์ขับเคลื่อนไม่เกิน 2 ตัว และห้ามใช้บอร์ดขับมอเตอร์เพิ่มเติมภายนอก
3.2.3 รุ่น Senior ใช้บอร์ดควบคุมรุ่นใดก็ได้ของ inex (รวม micro:bit ที่ต้องใช้งานร่วมกับบอร์ด iBITหรือ iBIT+ หรือ iBIT V1.8) ไม่จำกัดมอเตอร์, จำนวนล้อ, ตัวตรวจจับ และใช้บอร์ดขับมอเตอร์เพิ่มเติมภายนอกได้

3.3 น้ำหนักของหุ่นยนต์ทุกรุ่นไม่เกิน 2 กิโลกรัม
3.4 หุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันจะต้องเคลื่อนที่ด้วยล้อไปตามเส้น
3.5 หุ่นยนต์สามารถแยกหรือขยายขนาดออกได้ในขณะแข่งขัน
3.6 ไม่จำกัดที่มาและจำนวนของชิ้นส่วนทางกลและอุปกรณ์ประกอบ จะทำเอง, ขึ้นรูปจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ, ดัดแปลงจากของเล่น ทำได้ทั้งสิ้น
3.7 การยึดสกรูและนอตหรืออุปกรณ์ยึดตรึงใดๆ ในตัวหุ่นยนต์จะต้องกระทำอย่างแน่นหนา หากในระหว่างการแข่งขันมีชิ้นส่วนหลุด แตก หัก ลงในสนาม กรรมการจะนำออก และอนุญาตให้แข่งขันต่อไปได้ กรรมการไม่อาจรับผิดชอบต่อผลที่กระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างที่นำชิ้นส่วนที่หลุดออกนอกสนาม

ข้อที่ 4 สิ่งที่ต้องไม่กระทำในการสร้างหุ่นยนต์
ต้องไม่ใช้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใดๆ เมื่อติดตั้งแล้วสร้างความเสียหายแก่สนามแข่งขันในทุกกรณี

หมวดที่ 4 รูปแบบการแข่งขัน
ข้อที่ 5 การจัดแข่งขัน
5.1 แต่ละทีมมีโอกาสแข่งขันอย่างน้อย 2 ครั้งในรอบแรก เพื่อเลือกเวลาที่ดีที่สุด นำมาจัดลำดับ
5.2 ระบบการแข่งขันในรอบแรกเป็นระบบจัดอันดับ โดยดูจากเวลาที่ดีที่สุด
5.2.1 หากเวลาเท่ากัน จะดูจากจำนวนการจับหุ่นยนต์ ทีมที่มีจำนวนการจับหุ่นยนต์น้อยกว่า จะได้อันดับที่ดีกว่า
5.2.2 หากจำนวนการจับหุ่นยนต์เท่ากัน จะมีการแข่งขันพิเศษเพื่อเลือกหรือจัดอันดับทีมที่เข้ารอบต่อไป
5.2.3 คัดเลือก 3 ทีมที่มีผลการแข่งขันที่ดีที่สุดเข้ารอบชิงชนะเลิศ
5.3 ทีมที่ได้อันดับ 4 ถึง 6 (รวมไม่เกิน 3 ทีม) จะได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3
5.4 ทีมที่ได้อันดับ 7 ถึง 10 (รวมไม่เกิน 4 ทีม) จะได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4

ข้อที่ 6 การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ
6.1 การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะแข่งขันในลักษณะเดียวกับรอบแรก โดยทุกทีมมีโอกาสแข่งขัน 1 ครั้ง แต่ละครั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 3 นาที
6.2 ทีมที่ทำเวลาดีที่สุดเป็นผู้ชนะเลิศ
6.3 ทีมที่ทำเวลาได้ดีเป็นอันดับ 2 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
6.4 ทีมที่ทำเวลาได้ดีเป็นอันดับ 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
6.5 กรณีมีทีมที่ทำเวลาได้เท่ากัน ทีมที่มีจำนวนการจับหุ่นยนต์น้อยกว่า จะได้อันดับที่ดีกว่า
6.6 จากข้อ 6.5 หากเท่ากัน จะมีการแข่งขันพิเศษเพื่อเลือกหรือจัดอันดับ

หมวดที่ 5 การเริ่มต้น, หยุด, แข่งขันต่อ และจบการแข่งขัน
ข้อที่ 7 การเริ่มต้นแข่งขัน
7.1 เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้แข่งขันต้องมาพร้อมกันที่สนาม นำหุ่นยนต์วางบนจุดเริ่มต้น จะหันหุ่นยนต์ไปในทิศทางใดก็ได้ และต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนเลยจุดเริ่มต้น
7.2 เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้แข่งขันต้องเปิดสวิตช์ให้หุ่นยนต์เริ่มทำงาน เวลาจะถูกจับเมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์พ้นจากจุดเริ่มต้น

ข้อที่ 8 การหยุดและแข่งต่อ
8.1 เมื่อหุ่นยนต์เคลื่อนที่หลุดออกจากเส้น ผู้แข่งขันอาจรอให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่กลับมาก็ได้ โดยไม่ใช้มือจับหุ่นยนต์ และการจับเวลาของการแข่งขันยังคงดำเนินต่อไป
8.2 หากผู้แข่งขันใช้มือจับหุ่นยนต์ จะต้องมาเริ่มแข่งขันต่อตรงจุดพักที่ผ่านมาล่าสุด โดยการจับเวลาการแข่งขันยังดำเนินต่อไป

ข้อที่ 9 การจบการแข่งขัน
การแข่งขันจะจบลงเมื่อ
9.1 หุ่นยนต์เคลื่อนที่มาถึงจุดสิ้นสุดหรือเส้นชัย กรรมการหยุดจับเวลา บันทึกค่าเวลาล่าสุด หากไม่มีการจับหุ่นยนต์เลยตลอดการแข่งขันครั้งนั้น จะใช้เวลาที่ได้เป็นเวลาอย่างเป็นทางการของการแข่งขัน หากมีการจับหุ่นยนต์ กรรมการจะบวกเวลาอีกครั้งละ 5 วินาที รวมเข้ากับเวลาที่เข้าเส้นชัย เป็นเวลาอย่างเป็นทางการของการแข่งขัน
9.2 ผู้แข่งขันขอยุติการแข่งขันเอง กรรมการจะบันทึกเวลาเป็น 5 นาที

หมวดที่ 6 การผิดกติกา
ข้อที่ 10
ถ้าผู้แข่งขันทำการละเมิดข้อกำหนดในข้อที่ 4, 10 และ 11 หรือข้อหนึ่งข้อใด จะถือว่า ทำผิดกติกา

ข้อที่ 11
ผู้แข่งขันที่กระทำการดูถูก เหยียดหยามฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะโดยวาจาหรือการกระทำ หรือให้หุ่นยนต์ส่งเสียง, แสดงข้อความ หรือแสดงอากัปกริยาอันเป็นการดูถูก เหยียดหยามฝ่ายตรงข้าม จะถูกปรับแพ้

ข้อที่ 12
หากผู้แข่งขันกระทำการดังต่อไปนี้ จะถือว่าผิดกติกาเช่นกัน
12.1 ต้องไม่ทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการทำงานของหุ่นยนต์ของคู่แข่งขัน เช่น การส่งแสงอินฟราเรดเข้าไปรบกวนการทำงานของโมดูลตรวจจับแสงอินฟราเรดของคู่แข่งขัน
12.2 เข้าไปในพื้นที่ของสนามในระหว่างการแข่งขันของทีมอื่น
12.3 โยนหรือนำชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใดๆ เข้าไปในพื้นที่ของสนามในระหว่างการแข่งขันของทีมอื่น
12.4 กระทำการใดๆ ที่ทำให้การแข่งขันหยุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันควร
12.5 กระทำการใดก็ตามที่ไม่สุภาพและทำให้เกิดการเสื่อมเสียต่อการแข่งขัน

หมวดที่ 7 บทลงโทษ
ข้อที่ 13
ผู้ที่กระทำผิดกติกาในข้อที่ 9 จะถูกบวกเวลาอีก 20 วินาที

ข้อที่ 14
หากเป็นผู้ควบคุมทีมกระทำผิด ทีมที่อยู่ภายใต้การดูแลทั้งหมด จะถูกปรับแพ้ให้ออกจากการแข่งขัน

หมวดที่ 8 ความเสียหายและอุบัติเหตุในการแข่งขัน
ข้อที่ 15 การขอหยุดการแข่งขัน
ผู้แข่งขันสามารถขอหยุดการแข่งขันได้ หากหุ่นยนต์ของตนเองประสบอุบัติเหตุจนแข่งขันต่อไม่ได้ กรรมการจะบันทึกเวลาเป็น 5 นาที

ข้อที่ 16 เวลาสำหรับการซ่อมหุ่นยนต์
ผู้แข่งขันสามารถซ่อมแซมหุ่นยนต์ได้ตลอดเวลาการแข่งขัน โดยการจับเวลายังคงดำเนินต่อไป และกรรมการจะบวกเวลาอีก 5 วินาทีต่อครั้งที่มีการใช้มือจับหุ่นยนต์

หมวดที่ 9 การระบุหรือแสดงตัวของหุ่นยนต์
ข้อที่ 17
การระบุชื่อหรือหมายเลขของหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องกระทำอย่างชัดเจน ง่ายต่อการเห็นและอ่านบนตัวถังของหุ่นยนต์ตลอดระยะเวลาของการแข่งขัน

 

รางวัลของการแข่งขัน
1. ของที่ระลึก
ทีมที่สมัครเข้าแข่งขันทุกทีม จะได้รับของที่ระลึกจากผู้จัดการแข่งขัน
2. รางวัลและสิทธิ์ในการแข่งขันหุ่นยนต์ World Robot Games 2019 (WRG 2019)

1. ผู้ชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ, สิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนมูลค่า ทีมละ 10,500 บาท
2. รองชนะเลิศอันดับ 1 (1 ทีม) ได้รับเงินรางวัล 2,500 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
3. รองชนะเลิศอันดับ 2 (1 ทีม) ได้รับเงินรางวัล 1,500 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
4. รองชนะเลิศอันดับ 3 (3 ทีม) ได้รับเหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตร และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
5. รองชนะเลิศอันดับ 4 (4 ทีม) ได้รับเหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตร

ครูที่ปรึกษา/ผู้ควบคุมทีมของทีมที่ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัลและเกียรติบัตรเช่นเดียวกับผู้แข่งขัน (ทีมละ 1 คน)

สิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ WRG 2019 เป็นการให้สิทธิ์แก่สมาชิกทุกคนในทีม รวมถึงครูที่ปรึกษา ซึ่งสามารถลงทะเบียนเป็นผู้แข่งขันในรุ่น Open ได้ โดยทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ถึง 3 จะได้รับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนมูลค่า
ทีมละ 7,510 บาท คงเหลือค่าลงทะเบียนเพียงคนละ 2,990 บาท การรับหรือสละสิทธิ์เพื่อร่วมแข่งขัน WRG 2019 เป็นการพิจารณาโดยสมัครใจของผู้แข่งขันและผู้ฝึกสอน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ World Robot Games 2019 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ติดต่อได้ที่ บริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด (INEX) โทรศัพท์ 0-2747-7001-4 โทรสาร 0-2747-7005 อีเมล์ info@inex.co.th
หรือทางเว็บไซต์ http://wrgthailand.com
หรือติดตามผ่านทาง facebook ของ INEX ที่
https://www.facebook.com/innovativeexperiment