Sumo Robot-Double RC

หุ่นยนต์ซูโม่ประเภทคู่

หมวดที่ 1 รุ่น/ผู้แข่งขัน
ข้อที่ 1
1.1 ทีมหุ่นยนต์มีสมาชิก 2 คน จะมาจากโรงเรียนเดียวกันหรือไม่ก็ได้
1.2 การแข่งขันมี 2 รุ่นคือ

1.2.1 รุ่น Master สำหรับผู้แข่งขันอายุ 7 ถึง 10 ปี ต้องเกิดในปี พ.ศ. 2552 ถึง 2555
1.2.2 รุ่น Junior สำหรับผู้แข่งขันอายุ 11 ถึง 14 ปี ต้องเกิดในปี พ.ศ. 2548 ถึง 2551

1.3 ทีมอาจมีครู/อาจารย์ที่ปรึกษาได้ ไม่เกิน 1 คน (สามารถเป็นที่ปรึกษาพร้อมกันหลายทีมได้)
1.4 ผู้แข่งขันในแต่ละทีมสามารถลงแข่งขันได้ 1 รายการ

หมวดที่ 2 รูปแบบสนามแข่งขัน
ข้อที่ 2 นิยามของสนาม
สนามแข่งขันคือพื้นที่รวมของวงแหวนซูโม่ (Sumo ring) พื้นที่ภายในวงแหวน และพื้นที่ข้างสนาม

ข้อที่ 3 ข้อกำหนดของสนาม


3.1 สนามแข่งขันเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 150 เซนติเมตร มีความสูงประมาณ 2.5 เซนติเมตร
3.2 มีเส้นรอบวงเป็นแถบสีขาว กว้าง 2.5 เซนติเมตร โดยแถบสีขาวนั้นจะต้องอยู่ภายในวงกลม ภายในวงกลมเป็นพื้นสีดำสนิท เรียบแข็ง ไม่มันวาว สีที่ใช้ในสนามนั้นจะต้องไม่เป็นสีที่สะท้อนแสงอินฟราเรดหรือสะท้อนรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต ตลอดจนหมึกจำพวก Durabite
3.3 มีเส้นสำหรับวางหุ่นยนต์เพื่อเริ่มแข่งขัน 2 เส้น บริเวณกลางสนาม เรียกว่า เส้นชิคิริ (Shikiri) ควรเป็นสีน้ำตาลหรือสีอื่นที่สามารถแยกแยะได้ นอกจากสีขาวและดำ ทั้งสองเส้นมีความกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 10 เซนติเมตร อยู่ตรงข้ามกัน และห่างกันไม่เกิน 20 เซนติเมตร

ข้อที่ 4 พื้นที่ข้างสนาม
จะต้องมีพื้นที่ว่างข้างสนามเป็นสีใดก็ได้ ยกเว้นสีขาว และจะมีรูปร่างเป็นอย่างไรก็ได้

หมวดที่ 3 ข้อกำหนดของหุ่นยนต์
ข้อที่ 5 คุณสมบัติทางเทคนิค
5.1 ขนาดของหุ่นยนต์ต้องไม่เกิน 20 x 20 เซนติเมตร สูงไม่จำกัด และต้องใส่ลงในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดภายใน 20 x 20 เซนติเมตรที่ทางกรรมการเตรียมไว้ได้ก่อนการแข่งขัน มีน้ำหนักรวมก่อนลงสนามแข่งขันไม่เกิน 1,000 กรัม (รวมชิ้นส่วน, แบตเตอรี่ และอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนหุ่นยนต์ทั้งหมด)
5.2 ใช้บอร์ดควบคุมที่ผลิตและจำหน่ายโดย INEX (รวม micro:bit ที่ต้องใช้งานร่วมกับบอร์ด iBIT) ใช้ตัวตรวจจับได้ไม่จำกัด โดยหุ่นยนต์ที่เข้าแข่งขันต้องมีการเขียนโปรแกรมเพื่อติดต่อกับรีโมตคอนโทรลด้วย โดยไม่จำกัดรูปแบบของการติดต่อแบบไร้สาย และผู้แข่งขันต้องเตรียมการรับมือในกรณีอาจเกิดการรบกวนกันของคลื่นวิทยุหรือแสงอินฟราเรดในขณะทำการฝึกซ้อมและแข่งขัน
5.3 ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนได้ไม่เกิน 2 ตัว และห้ามใช้แผงวงจรขับมอเตอร์ภายนอก
5.4 หุ่นยนต์ต้องทำงานด้วยการควบคุมจากระยะไกลด้วยรีโมตคอนโทรลแบบไร้สาย โดยไม่จำกัดรูปแบบ
5.5 ล้อของหุ่นยนต์ใช้ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนและชนิด แต่จะต้องไม่ดูดหรือยึดเกาะสนามในภาวะที่ไม่มีการทำงาน และห้ามใช้ล้อที่มีการชุบหรือทาด้วยน้ำมันหรือของเหลวหล่อลื่น
5.6 หุ่นยนต์สามารถแยกหรือขยายขนาดออกในขณะแข่งขัน แต่ต้องไม่มีการยิง ขว้าง หรือส่งชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อื่นใดออกจากตัวหุ่นยนต์ในขณะทำการแข่งขัน มิเช่นนั้นจะปรับแพ้ในการแข่งขันนัดนั้นทันที
5.7 การยึดสกรูและนอตหรืออุปกรณ์ยึดตรึงใดๆ ในตัวหุ่นยนต์จะต้องกระทำอย่างแน่นหนา หากในระหว่างการแข่งขันมีชิ้นส่วนหลุด แตก หัก ลงในสนาม กรรมการจะนำออก และอนุญาตให้แข่งขันต่อไปได้ กรรมการไม่อาจรับผิดชอบต่อผลที่กระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างที่นำชิ้นส่วนที่หลุดออกนอกสนาม
5.8 ไม่จำกัดคุณสมบัติของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมหุ่นยนต์

ข้อที่ 6 สิ่งที่ต้องไม่กระทำในการสร้างหุ่นยนต์
6.1 ต้องไม่ทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการทำงานของตัวตรวจจับของคู่แข่งขัน เช่น การส่งแสงอินฟราเรดเข้าไปรบกวนการทำงานของโมดูลตรวจจับแสงอินฟราเรดของคู่แข่งขัน หรือติดตั้งชิ้นส่วนที่มีสีขาวหรือสีอ่อน หรือสีสะท้อนแสงซึ่งทำให้ตัวตรวจจับของคู่แข่งขันทำงานผิดพลาด
6.2 ต้องไม่ใช้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใดๆ เมื่อติดตั้งแล้วสามารถสร้างความเสียหายแก่วงแหวนซูโม่
6.3 ต้องไม่ติดตั้งหรือใช้อุปกรณ์ที่มีการบรรจุของเหลว แป้งหรือผงฝุ่น รวมถึงอากาศ ที่สามารถส่งออกไปยังหุ่นยนต์ของคู่แข่งขันด้วยวิธีการใดๆ
6.4 ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ใดที่เมื่อทำงานตามปกติแล้วทำให้เกิดเปลวไฟ หรือการลุกไหม้
6.5 ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ใดๆ ที่สามารถยิง ขว้าง หรือส่งชิ้นส่วนออกจากหุ่นยนต์ไปยังคู่แข่งขัน
6.6 ต้องไม่ติดตั้งหรือใช้งานอุปกรณ์และเครื่องมืออื่นใดที่สามารถยึดหุ่นยนต์ไว้กับพื้นสนามและวงแหวนซูโม่ ไม่ว่าจะเป็นกาว ยางเหนียวยึดเกาะพื้นผิว เทปกาว สติ๊กเกอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์พิเศษที่ใช้ในการพยุงหรือสร้างแรงต้านกับพื้นสนาม เช่น ระบบไอพ่น

หมวดที่ 4 รูปแบบการแข่งขัน
ข้อที่ 7 การจัดแข่งขัน
7.1 การแข่งขัน 1 นัด มี 3 ยก ยกละ 2 นาที
7.2 แต่ละทีมต้องมีหุ่นยนต์ 2 ตัว เพื่อลงแข่งขัน 3 ยก โดยสองยกแรก ต้องใช้หุ่นยนต์คนละตัว และหากมีการแข่งขันในยกที่สามเกิดขึ้น ผู้แข่งขันสามารถเลือกหุ่นยนต์ตัวใดลงแข่งขันก็ได้
7.3 ผู้ชนะการแข่งขันคือ ทีมที่สามารถชนะได้ 2 จาก 3 ยก หรือได้คะแนน 2 “ยูโค” แรก ภายในเวลาที่กำหนด เมื่อชนะใน
แต่ละยก จะได้ 1 ยูโค หากไม่มีทีมใดทำคะแนนได้ก่อนหมดเวลา จะถือว่า ยกนั้นเสมอกัน หากครบ 3 ยก แล้วไม่มีทีมใดทำคะแนนได้ 2 ยูโค กรรมการจะตัดสินผลการแข่งขันดังนี้

7.3.1 หากทั้งสองทีม ได้ทีมละ 1 ยูโค (ชนะทีมละยก) และมี 1 ยกที่เสมอกัน ทีมที่มีน้ำหนักรวมของหุ่นยนต์ทั้งสองตัวเบากว่าจะเป็นผู้ชนะ
7.3.2 หากเสมอกันทั้ง 3 ยก ทีมที่มีน้ำหนักรวมของหุ่นยนต์ทั้งสองตัวเบากว่าจะเป็นผู้ชนะ
7.3.3 หากเสมอกัน 2 ยก และมีทีมใดทีมหนึ่งชนะในยกที่เหลือ ถือว่า เป็นผู้ชนะในนัดนั้น

7.4 ในกรณีต่อเวลาสำหรับรอบชิงชนะเลิศ ทีมที่ทำยูโคได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตาม การตัดสินทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับกรรมการ ซึ่งอาจกำหนดให้มีการต่อเวลาเพื่อตัดสินแพ้-ชนะหรืออาจตัดสินด้วยน้ำหนักของหุ่นยนต์ก็ได้
7.5 ระบบการแข่งขันเป็นแบบดับเบิลอิลิมิเนชั่น (double elimination) ทีมที่แพ้สองครั้งจะตกรอบ ทีมที่ชนะได้เข้ารอบต่อไป แข่งอย่างต่อเนื่องจนได้ทีมชนะเลิศ, รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2

หมวดที่ 5 การเริ่มต้น, หยุด, แข่งขันต่อ และจบการแข่งขัน
ข้อที่ 8 การเริ่มต้นแข่งขัน
8.1 เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้แข่งขันต้องมาพร้อมกันที่สนาม
8.2 ในยกแรก ให้ทำการเสี่ยงทาย ทีมที่แพ้ในการเสี่ยงทาย ต้องนำหุ่นยนต์วางบนพื้นสนามหลังเส้นชิคิริก่อน โดยหันด้านใดของหุ่นยนต์เข้าหาฝ่ายตรงข้ามก็ได้ จากนั้นอีกหนึ่งทีมที่ชนะการเสี่ยงทายจะวางหุ่นยนต์ลงบนพื้นสนามตามหลัง
8.3 เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้แข่งขันสามารถควบคุมหุ่นยนต์ให้ทำงานได้ทันที
8.4 ในยกที่สองเป็นต้นไป ทีมที่ชนะจากการแข่งขันในยกก่อนหน้าเป็นฝ่ายวางหุ่นยนต์บนพื้นสนามหลังเส้นชิคิริก่อน โดยหันด้านใดของหุ่นยนต์เข้าหาฝ่ายตรงข้ามก็ได้ จากนั้นทีมที่แพ้จากการแข่งขันในยกก่อนหน้าจะวางหุ่นยนต์ลงบนพื้นสนามตามหลัง
8.5 ทีมที่ชนะในยกที่หนึ่ง จะได้วางหุ่นยนต์ก่อนในยกที่สอง
8.6 หากมีการแข่งขันในยกที่สามเกิดขึ้น ทีมที่ชนะในยกที่สองจะได้วางหุ่นยนต์ก่อน
8.7 หากยกใดมีผลเสมอเกิดขึ้น และต้องมีการแข่งขันต่อไป ทีมที่ได้วางหุ่นยนต์ก่อนในยกก่อนหน้า จะเป็นผู้วางหุ่นยนต์ก่อน

ข้อที่ 9 การหยุดและเริ่มต้นใหม่
การแข่งขันจะหยุดและเริ่มต้นใหม่ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการประกาศจากกรรมการ

ข้อที่ 10 การจบการแข่งขัน
การแข่งขันจะจบลงอย่างเป็นทางการเมื่อหัวหน้ากรรมการประกาศ ผู้แข่งขันนำหุ่นยนต์ออกจากสนาม

หมวดที่ 6 เวลาของการแข่งขัน
ข้อที่ 11 เวลาการแข่งขัน
ในแต่ละยก มีเวลา 2 นาที เริ่มต้นและสิ้นสุดตามการประกาศของหัวหน้ากรรมการ

ข้อที่ 12 การต่อเวลา
กำหนดไว้ 2 นาที หรือขึ้นกับการกำหนดโดยกรรมการ จะใช้การต่อเวลาเฉพาะนัดชิงชนะเลิศเท่านั้น

ข้อที่ 13
เหตุการณ์ต่อไปนี้ จะไม่นำมารวมในเวลาของการแข่งขัน
13.1 เวลาที่หัวหน้ากรรมการใช้ในการประกาศให้คะแนนยูโค
13.2 เวลาก่อนเริ่มต้นแข่งขันในยกใหม่ หลังจากหัวหน้ากรรมการประกาศให้คะแนนยูโค
13.3 เวลาที่หัวหน้ากรรมการใช้ในการประกาศหยุดแข่งขัน

หมวดที่ 7 ยูโค (YUHKOH)
ข้อที่ 14 คะแนนยูโค
14.1 คะแนน 1 ยูโค จะเกิดขึ้นเมื่อ

14.1.1 ฝ่ายหนึ่งสามารถทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์ฝ่ายตรงข้ามสัมผัสกับพื้นของพื้นที่นอกวงแหวนซูโม่ ซึ่งก็คือ พื้นที่ข้างสนาม ฝ่ายที่ทำได้ก่อนจะได้คะแนน 1 ยูโค
14.1.2 เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์ฝ่ายตรงข้ามสัมผัสกับพื้นของพื้นที่นอกวงแหวนซูโม่ด้วยตัวเอง ฝ่ายตรงข้ามจะได้คะแนน 1 ยูโค

14.2 ถ้าหุ่นยนต์ยังอยู่บนเส้นวงแหวน ยังไม่ถือว่าได้คะแนน ให้ทำการแข่งขันต่อไป
14.3 การแข่งขันจะหยุดและตัเสินให้เสมอกันเมื่อ :

14.3.1 หุ่นยนต์ทั้งสองตัวประกบติดกันและไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ 10 วินาที
14.3.2 หุ่นยนต์ทั้งสองตัวเคลื่อนที่ในลักษณะซ้ำๆ เช่น เดินหน้า-ถอยหลังไปมา หรือหมุนตัวตลอดเวลา หรือเคลื่อนที่วงกลมเป็นเวลาต่อเนื่องกัน 10 วินาที และกรณีหยุดนิ่งด้วย
14.3.3 กรณีที่ผ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดเหตุการณ์ในข้อ 14.3.2 ขึ้น อีกผ่ายหนึ่งจะได้คะแนน 1 ยูโค
14.3.4 ถ้าหากหุ่นยนต์ทั้งสองตัวไปสัมผัสกับพื้นของพื้นที่นอกวงแหวนซูโม่ โดยไม่สามารถระบุได้อย่างชัดแจ้งว่า ใครสัมผัสก่อน กรรมการจะตัดสินให้แข่งขันใหม่

หมวดที่ 8 การผิดกติกา
ข้อที่ 15
ถ้าผู้แข่งขันทำการละเมิดข้อกำหนดในข้อที่ 6, 16 และ 17 หรือข้อหนึ่งข้อใด จะถือว่า ทำผิดกติกา

ข้อที่ 16
ผู้แข่งขันที่กระทำการดูถูก เหยียดหยามฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะโดยวาจาหรือการกระทำ หรือให้หุ่นยนต์ส่งเสียง, แสดงข้อความ หรือแสดงอากัปกริยาอันเป็นการดูถูก เหยียดหยามฝ่ายตรงข้าม จะถูกปรับแพ้

ข้อที่ 17
หากผู้แข่งขันกระทำการดังต่อไปนี้ จะถือว่าผิดกติกาเช่นกัน
17.1 เข้าไปในพื้นที่วงแหวนในระหว่างการแข่งขัน หรือใช้อุปกรณ์ ยกเว้นในกรณีเข้าไปเพื่อนำหุ่นยนต์ออกมาเมื่อหัวหน้ากรรมการประกาศให้คะแนนยูโคหรือในช่วงหยุดการแข่งขัน
17.2 โยนหรือนำชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใดๆ เข้าไปในพื้นที่วงแหวน
17.3 กระทำการใดๆ ที่ทำให้การแข่งขันหยุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันควร
17.4 ใช้เวลามากกว่า 30 วินาที ในการเริ่มต้นแข่งขันใหม่ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกรรมการ
17.5 กระทำการใดก็ตามที่ไม่สุภาพและทำให้เกิดการเสื่อมเสียต่อการแข่งขัน

หมวดที่ 9 บทลงโทษ
ข้อที่ 18
ผู้ที่กระทำผิดกติกาในข้อที่ 6 และ 16 จะถูกปรับแพ้ เนื่องจากกรรมการจะให้คะแนน 2 ยูโค แก่ฝ่ายตรงข้ามทันที การตัดสินถือเป็นสิ้นสุด ผู้กระทำผิดไม่สามารถประท้วงได้

ข้อที่ 19
ถ้าผู้แข่งขันฝ่ายหนึ่งกระทำผิดกติกาในข้อที่ 17 รวม 2 กรณีหรือกรณีเดียวกัน 2 ครั้ง กรรมการจะให้ 1 ยูโคแก่ฝ่ายตรงข้าม

ข้อที่ 20
การทำผิดกติกาในข้อที่ 17 จะนับรวมต่อการแข่งขัน 1 นัด

หมวดที่ 10 ความเสียหายและอุบัติเหตุในการแข่งขัน
ข้อที่ 21 การขอหยุดการแข่งขัน
ผู้แข่งขันสามารถขอหยุดการแข่งขันได้ หากหุ่นยนต์ของตนเองประสบอุบัติเหตุจนแข่งขันต่อไม่ได้

ข้อที่ 22 การไม่สามารถแข่งขันต่อได้
ถ้าหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันต่อได้ กรรมการจะพิจารณาว่า ทีมใดเป็นต้นเหตุแห่งอุบัติเหตุนั้น ทีมนั้นต้องเป็นฝ่ายแพ้ แต่ถ้าตัดสินไม่ได้ จะถือว่า ทีมที่แข่งต่อไม่ได้เป็นฝ่ายแพ้

ข้อที่ 23 เวลาสำหรับการพิจารณากรณีเกิดอุบัติเหตุ
ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ แต่จะต้องไม่เกิน 5 นาที

ข้อที่ 24 การให้ยูโคแก่ทีมที่ไม่สามารถแข่งขันต่อได้
กรณีเกิดเหตุการณ์ในข้อที่ 22 แล้ว ทีมที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุ แต่ไม่สามารถแข่งขันต่อได้จะได้รับ 2 ยูโค ทำให้ชนะการแข่งขัน แต่ถ้าหากมีอยู่แล้ว 1 ยูโค จะได้รับเพิ่ม 1 ยูโค เพื่อทำให้เป็นผู้ชนะ

หมวดที่ 11 การระบุหรือแสดงตัวของหุ่นยนต์
ข้อที่ 25
การระบุชื่อหรือหมายเลขของหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องกระทำอย่างชัดเจน ง่ายต่อการเห็นและอ่านบนตัวถังของหุ่นยนต์ตลอดระยะเวลาของการแข่งขัน


รางวัลของการแข่งขัน
1. ของที่ระลึก
ทีมที่สมัครเข้าแข่งขันทุกทีม จะได้รับของที่ระลึกจากผู้จัดการแข่งขัน
2. รางวัลและสิทธิ์ในการแข่งขันหุ่นยนต์ World Robot Games 2019 (WRG 2019)

1. ผู้ชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ, สิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนมูลค่า ทีมละ 21,000 บาท
2. รองชนะเลิศอันดับ 1 (1 ทีม) ได้รับเงินรางวัล 3,500 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
3. รองชนะเลิศอันดับ 2 (1 ทีม) ได้รับเงินรางวัล 2,500 บาท, เหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตรรับรองความสามารถ และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
4. รองชนะเลิศอันดับ 3 (3 ทีม) ได้รับเหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตร และสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน WRG 2019 รอบนานาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในนามทีมหุ่นยนต์ประเทศไทย
5. รองชนะเลิศอันดับ 4 (4 ทีม) ได้รับเหรียญ, โล่รางวัล, เกียรติบัตร

ครูที่ปรึกษา/ผู้ควบคุมทีมของทีมที่ได้รางวัลจะได้รับเหรียญและเกียรติบัตรเช่นเดียวกับผู้แข่งขัน (ทีมละ 1 คน)

สิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ WRG 2019 เป็นการให้สิทธิ์แก่สมาชิกทุกคนในทีม รวมถึงครูที่ปรึกษา ซึ่งสามารถลงทะเบียนเป็นผู้แข่งขันในรุ่น Open ได้ โดยทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ถึง 3 จะได้รับการสนับสนุนค่าลงทะเบียนมูลค่าทีมละ 15,020 บาท คงเหลือค่าลงทะเบียนเพียงคนละ 2,990 บาท การรับหรือสละสิทธิ์เพื่อร่วมแข่งขัน WRG 2019 เป็นการพิจารณาโดยสมัครใจของผู้แข่งขันและผู้ฝึกสอน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ World Robot Games 2019 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ติดต่อได้ที่ บริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด (INEX) โทรศัพท์ 0-2747-7001-4 โทรสาร 0-2747-7005 อีเมล์ info@inex.co.th
หรือทางเว็บไซต์ http://wrgthailand.com
หรือติดตามผ่านทาง facebook ของ INEX ที่
https://www.facebook.com/innovativeexperiment